Tag Archives: สุขภาพกับหน้าฝน

วิธีดูแลสุขภาพ ป้องกันปัญหาโรคที่มากับฤดูฝน

วิธีดูแลสุขภาพ ป้องกันปัญหาโรคที่มากับฤดูฝน

ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนสู่ฤดูฝน ทำให้มีโรคที่มากับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงเกิดจากพาหะนำโรคหลายชนิดที่เติบโตได้ดีในช่วงเวลานี้ด้วย ดูหน่อยกับข้อมูลทางการแพทย์แนะนำให้ดูแลสุขภาพเพื่อการป้องกันโรคที่มากับฤดูฝนอย่างไรบ้าง

การรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่

การต้ม นึ่ง ทอด อบ เป็นเทคนิคทำอาหารสุกด้วยกระบวนการความร้อน ที่ต้องใส่ใจอย่างมากในฤดูฝน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการปนเปื้อนของแบคทีเรียที่อาจก่อโรคได้ ทั้งนี้ รวมถึงการทำความสะอาดอุปกรณ์ เช่น ช้อนส้อม จานชาม แก้วน้ำ ให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนใส่อาหารและเครื่องดื่ม

อย่าลืมว่าในฤดูฝนมีปริมาณของแมลงวันที่เป็นพาหะนำโรคมากกว่าปกติ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อภายในระบบทางเดินอาหาร จนเกิดภาวะอาหารเป็นพิษ ท้องเสีย ถ่ายเหลว ปวดบิด เป็นไข้ หากมีอาการมาก จะทำให้คลื่นไส้อาเจียน หรือทำให้มีอาการช็อกเป็นอันตรายร้ายแรงได้

ไม่เดินเหยียบย่ำบริเวณที่มีน้ำขัง

ปัญหาที่มากับน้ำขังในฤดูฝน นอกจากเป็นโรคผิวหนังอักเสบ อย่างฮ่องกงฟุต กลากเกลื้อน ที่ต้องใช้ยาทาและยารับประทานรักษาแล้ว ยังรวมไปถึงโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซีสที่มากับน้ำท่วมขังที่มีฉี่ของหนูปะปนอยู่ เช่น ย่านตลาดสด ถนนสาธารณะ ซึ่งจะทำให้มีอาการเป็นไข้สูง ปวดศีรษะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณช่วงขาและน่อง หากมีอาการรุนแรงอาจจะถึงภาวะไตวายและเสียชีวิตได้ด้วย

สวมใส่หน้ากากและหลีกเลี่ยงที่ที่มีคนจำนวนมาก

การใส่หน้ากากและเลี่ยงการอยู่ในที่ผู้คนแออัด จะป้องกันการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในฤดูฝนอย่างโรคหวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดติดเชื้อ ฯลฯ ได้ ซึ่งปัจจุบันยังมีเรื่องของภาวะไวรัสโควิด-19 ระบาด ที่อาจจะทำให้คุณเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยขั้นร้ายแรงจนเสียชีวิตได้ หลักการที่ดีคือ ยึดแนวทางตามเทคนิค Social Distance, ล้างมือบ่อย ๆ และสวมหน้ากาก เพื่อการป้องกันตัวเองและลดการกระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย

ไม่อยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงน้ำขังสกปรกหรือตามที่มีหญ้ารกสูง

ในพื้นที่มีน้ำขังหรือที่มีหญ้าขึ้นรกสูง จะเป็นจุดเสี่ยงต่อโรคที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบ Japanese encephalitis โรคมาลาเรีย ฯลฯ จะทำให้มีอาการไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน และยังมีอาการเฉพาะทางอีกหลายอย่าง หากปล่อยไว้อาจจะทำให้เกิดภาวะอวัยวะภายในล้มเหลวกระทั่งเสียชีวิตได้ สิ่งที่ควรทำ คือ ต้องร่วมมือกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และหลีกเลี่ยงการเข้าสู่พื้นที่เสี่ยง