เหตุใดต้นไม้จึงงามยามรับฝน

เหตุใดต้นไม้จึงงามยามรับฝน

เราเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมช่วงฤดูฝนต้นไม้จึงแตกหน่องดงาม เขียวขจี มีชีวิตชีวาทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นก็รดน้ำประปาไม่ได้ขาด มีความลับใดซ่อนอยู่ในน้ำฝน ลองไปดูกัน 

ธาตุอาหารที่เป็นหัวใจสำคัญหนึ่งที่ส่งเสริมการเติบโตของต้นไม้เป็นอย่างดี คือ ไนโตรเจน เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสร้างโครงสร้าง ซ่อมแซม เร่งการเจริญเติบโตของพืช เป็นตัวการสำคัญในกระบวนการเมตาโบลิซึ่มที่เปลี่ยนแปลงธาตุอาหารให้อยู่ในรูปที่พืชใช้งานได้ อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโนจำเป็นในโปรตีนด้วย  ในบรรยากาศมีไนโตรเจนสูงแต่พืชไม่สามารถรับมาใช้โดยตรงได้ จะต้องผ่านกระบวนการทำปฏิกิริยาทางเคมีที่เปลี่ยนไนโตรเจนให้เป็น แอมโมเนียม และไนเตรท ซึ่งมีฝนเป็นตัวกลางสำคัญตามลำดับดังนี้ 

  1. พลังจากฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ทำให้เกิดพลังงานที่ส่งผลให้ไนโตรเจนกับออกซิเยนในอากาศทำปฏิกิริยากันเกิดเป็นสารไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำละลายได้ดีในน้ำฝน โดยมีการประเมินว่า ฟ้าแลบหนึ่งครั้งจะทำให้ธาตุไนโตรเจนตกลงมายังพื้นดิน 2 กิโลกรัมต่อพื้นที่จำนวน 1 ไร่
  2. น้ำฝนทำให้เกิดการทำละลาย หลังจากนั้นเมื่อฝนตก น้ำฝนจะเป็นตัวทำละลายเปลี่ยนในตริกออกไซด์ (NO) แล้วเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็น ไนโตรเจนออกไซด์(NO2) จากนั้นเกิดการทำละลายโดยน้ำฝนเปลี่ยนเป็นกรดไนตริก หรือดินประสิว (HN03) ตกลงมายังพื้นดิน
  3. ได้แคลเซียมไนเตรท กรดไนตริก หรือดินประสิวที่ตกลงมาจะไปรวมตัวกับธาตุอาหารอื่นๆในดิน เช่น แคลเซียม ทำให้เกิดธาตุอาหารสำคัญ คือ แคลเซียมไนเตรท ซึ่งเป็นปุ๋ยชั้นดีของพืช ช่วยสร้างรากฝอย กระตุ้นการแทงหน่อ สร้างความแข็งแรงให้กับผนังเซลล์ของพืช ช่วยทำให้รูปทรงของผลสมบูรณ์ไม่บิดเบี้ยว 
  4. น้ำฝนเป็นตัวนำสร้างธาตุอาหารชั้นดี  น้ำฝนที่ตกลงมานำพาคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลงมาด้วย ทำให้มีค่าความเป็นกรดอ่อนๆ มีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ต่ำกว่า 6 ด้วยคุณสมบัตินี้จึงเป็นตัวทำละลายธาตุต่างๆ ในอากาศและในดินปรุงเป็นอาหารพืชอื่นๆได้เป็นอย่างดี 

ยังมีงานวิจัยจากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พบว่า ในน้ำฝน 1 ลิตรจะมีธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม 0.8 มก. แมกนีเซียม 1.2 มก. โซเดียม 9.4 มก.ไบคาร์บอเนต 4 มก.ซัลเฟต 7.6 มก. คลดไรด์ 17 มก. ซิลิก้า 0.3 มก. เป็นต้น แต่ในน้ำประปาเป็นน้ำปรุงแต่งที่ส่งตรงผ่านท่อ (ไม่ได้ผ่านผิวดิน) สู่ต้นไม้โดยตรงไม่มีโอกาสนำพาธาตุอาหารในอากาศ และไม่มีค่าความเป็นกรดอ่อน ๆ ที่สามารถละลายธาตุต่าง ๆ ให้เป็นอาหารพืชได้เหมือนน้ำฝน พืชที่รับน้ำฝนเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ จึงเจริญเติบโตได้ดีกว่าชัดเจนเมื่อเทียบกับการรดด้วยน้ำประปา

เมื่อได้รู้จัก และทำความเข้าใจที่มาที่ไปของน้ำฝนแล้ว จะพบว่าน้ำฝนไม่ได้มีประโยชน์เพียงการเติมความชุ่มชื้นให้พืช และช่วยประหยัดน้ำประปาเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวกลางช่วยสร้างอาหารธรรมชาติให้พืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการได้รับน้ำฝนเกินปริมาณและทำให้พืชอยู่ในความชื้นในระยะเวลานานเกินไปก็สามารถทำร้ายพืชในบางชนิดได้ด้วยเช่นกัน